สรุปสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับรับฟังความคิดเห็น

103

ร.ต.อ.อมรพันธุ์ ฉิมอิ่ม (นรต.66, น.บ.ท.68)งานกฎหมายและวินัย ฝ่าย ตม.ขาออก ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ ได้สรุปร่าง พรบ ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่กำลังรับฟังความเห็นของประชาชน ไว้น่าสนใจ ดังนี้…

เพื่อนข้าราชการตำรวจหลายท่าน แจ้งมาให้ช่วยสรุป ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ จากประสบการณ์การสอน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับปัจจุบัน ให้ส่วนราชการ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ผมขอสรุป สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับรับฟังความคิดเห็น (ส่งความเห็นให้กฤษฎีกา ได้ถึง 16 ส.ค. 61) เฉพาะในส่วนที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน และเป็นสาระสำคัญที่ควรรู้ ดังนี้ครับ

1. การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ (VIP) ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ต้องเป็น VIP ที่ ครม. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งแต่งตั้ง (จะไปตามนาย นักการเมือง โดย ผบ.ตร.ไม่ได้แต่งตั้งไม่ได้) + ตร.ผู้นั้นต้องสมัครใจ ผบ.ตร.แต่งตั้งแล้วให้ย้ายสังกัดไป บช.ส. ชั่วคราว หากบุคคลที่ รปภ. หมดหน้าที่แล้วให้ส่งคืนสังกัดเดิม เว้นแต่ VIP นั้นเป็นนายกฯ ที่ไม่เคยต้องคำพิพากษาลงโทษ ให้ติดตาม รปภ. ต่อได้ (แม้นายกฯ จะพ้นหน้าที่แล้ว)

2. เรื่องตำรวจไม่มียศ แต่เดิมเขียนไว้กว้าง ๆ ไม่ระบุตำแหน่ง ร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า ให้ หมอ พยาบาล พฐ. อาจารย์(ที่สอน วิชาที่ ก.ตร.กำหนด) เป็น ตร. ไม่มียศ ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ให้ประกาศใน พ.ร.ฎ.

3. แบ่งระดับสถานีตำรวจเป็น เล็ก กลาง ใหญ่ ตามที่ ก.ตร. กำหนด

4. มีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า ก.ตร. (เป็นคนละคณะกับ ก.ตร. ที่เรารู้จักกันใน พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันนะครับ แม้ชื่อย่อจะเหมือนกัน) โดย ร่าง พ.ร.บ. นี้ ให้เพิ่ม อสส. เลขาฯ สนง.ศาลยุติธรรม ปลัด มท. , ยธ. มาเป็นกรรมการด้วย และตัด เลขาฯ ก.พ. ออกจาก ก.ตร.

5. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. มี 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นอดีต ตร. ในตำแหน่ง ผบช. ขึ้นไป 5 คน (พ้นราชการมาอย่างน้อย 1 ปี) ส่วนที่ 2 ต้องไม่เคยเป็น ตร. โดย นายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ร่วมกันเสนอชื่อ มา 6 คน แล้วให้ ขรก.ตร. เลือก เหลือ 3 คน (สัญญาบัตรเป็นผู้เลือก)

6. ก.ตร.คัดเลือก ขรก.ตร. เสนอ ครม. เพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร. (ฉบับปัจจุบันให้ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เสนอ ก.ต.ช.)

7. ให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ค.ตร.” อันนี้เพิ่มมาใหม่ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันไม่มี คิดว่าน่าจะล้อมาจากกฎหมายของระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่มี ก.พ.ค. โดยให้มีหน้าที่วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ เรื่องอุทธรณ์ การออกกฎ ระเบียบ ต่าง ๆ ซึ่งหาก ก.พ.ค. วินิจฉัยแล้วว่า กฎ ก.ตร. ขัด พ.ร.บ. นี้ ให้เป็นที่สุด

8. ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เรียกย่อว่า “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่รับร้องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจจากประชาชน คณะนี้มีใครบ้างไปดูใน มาตรา 35

9. ก.ต.ช. ไม่มีแล้ว

10. กำหนดตำแหน่งเป็น 5 สายงาน คือ 1.บริหาร 2.อำนวยการและสนับสนุน(งานที่ ก.ตร.กำหนด)
3.สอบสวน (การสอบสวน และสืบสวนที่เกี่ยวกับ ป.วิ. และกฎหมายสอบสวนอื่น ๆ) 4.ป้องกันปราบปราม (สืบ ป ตชด. และงานที่ ก.ตร.กำหนด) 5.วิชาชีพเฉพาะ (หมอ พยาบาล อาจารย์ พฐ. และ ก.ตร.กำหนด)
***ข้อสังเกต สายงานจราจรไม่มีระบุแล้ว เพราะจะต้องถูกโอนย้ายตามบทเฉพาะกาล

11. ใน บช. ให้มี ผบช. และ ผบช.สอบสวน (คุมงานสอบสวนอย่างเดียว) สรุป มี ผบช. 2 คน แต่ ผบช.สอบสวน ต้องรายงานให้ ผบช.หลัก ทราบด้วย

12. ใน บก. ให้ มี ผบก. และ ผบก.สอบสวน (อื่น ๆ เหมือนข้อ 11.)

13. หน้าที่ในด้านการสอบสวน และการทำความเห็นทางคดี ให้เป็นของ ผบช.และ ผบก.สอบสวน เท่านั้น

14. พงส.ได้เงินประจำตำแหน่ง ต้องทำงานจริง (ไปช่วยไม่ได้เงินนะจ๊ะเขียนไว้ใน พ.ร.บ.) และ พงส.โรงพัก อาจได้เงิน ปจต. มากกว่า พงส. ส่วนกลางได้

15. การบรรจุแต่งตั้งสัญญาบัตร ที่ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะ ให้ดำรงตำแหน่งในสายงานต่าง ๆ ดังนี้ (เข้าใจว่าเป็นเงื่อนไขท้ายคำสั่งแต่งตั้งครั้งแรก)
– อำนวยการ อย่างน้อย 1 ปี
– ป้องกันฯ อย่างน้อย 2 ปี
– รอง สว.สืบสวน ในการสอบสวน อย่างน้อย 1 ปี
– รอง สว.สอบสวน อย่างน้อย 2 ปี

16. กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งแต่ละระดับไว้ใน พ.ร.บ. (ทำให้แก้ยากกว่าเขียนไว้ในกฎ ก.ตร.) โดยใช้สูตร 7-4-4-4-4-3-3-2-2 ตั้งแต่ระดับ สว. – รอง ผบ.ตร. และระยะเวลาให้นับการดำรงตำแหน่งจริง ไม่นับทวีคูณ

17. การแต่งตั้งระดับ รอง สว. – รอง ผบก. ให้ดูเฉพาะใน บช. เดียวกัน ส่วนระดับ ผบก. ขึ้นไป ดูทั้ง ตร. โดยใช้คะแนนประเมิน เรียงตามลำดับ ถ้าคะแนนเท่ากันให้ใช้หลักเกณฑ์ ก.ตร.

18. การแต่งตั้ง รอง ผกก. หรือ ผกก. ให้ดำรงตำแหน่งครั้งแรก ให้ไปอยู่โรงพักเล็กก่อน 2 ปี ค่อยย้ายไปโรงพักใหญ่ได้ ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ จะไปอยู่โรงพักไหน ให้เลือกตามคะแนนประเมิน

19. คะแนนประเมินให้ใช้ตาม มาตรา 69 ดังนี้
– 1.อาวุโส ใครอยู่นานสุดในระดับนั้นได้ 50 คะแนน ลำดับถัดไปคะแนนลดลงปีละ 5 คะแนน อาวุโสเท่ากันได้คะแนนเท่ากัน โดยให้นับจากวันที่ดำรงตำแหน่ง จนถึงวันประเมิน
– 2. ความรู้ความสามารถ 20 คะแนน
– 3.ความพึงพอใจของประชาชน 30 คะแนน

20. หากหน่วยงานไหนไม่ได้มีภารกิจบริการประชาชนโดยตรง ให้ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ แทนความพึงพอใจของประชาชน

21. การประเมินความพึงพอใจ ตามข้อ 19. ให้คิดในภาพรวมของ กก. บก. บช. โดยหน่วยงานได้เท่าไร ให้ถือว่าคนไหนหน่วยงานนั้นได้เท่ากัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้เก็บข้อมูล

22. การแต่งตั้งสายงานสอบสวน นำมาเขียนแยกใน มาตรา 72 โดยใช้สูตรเดียวกับ ข้อ 16.

23. ขรก.ตร. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร.

24. ใครแอบอ้างว่าช่วยวิ่งเต้นได้ มีโทษตาม มาตรา 75 จำคุกไม่เกินห้าปี

25. แต่งตั้งข้าม บก. ไม่ได้ เว้นแต่สมัครใจหรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ ผบ.ตร.จะแต่งตั้ง ข้าม บช.ได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จาก ก.ตร. กรณีเพื่อความมั่นคงปลอดภัย หรือสร้างขวัญกำลังใจ แต่เรื่องแต่งตั้งนี้ไม่เอามาใช้กับผู้ถูกสั่งย้ายเพราะโดนวินัยร้ายแรง (ย้ายเข้ากรุได้ไม่ห้ามถ้าโดนวินัยร้ายแรง)

26. แต่งตั้งนอกสายไม่ได้ เว้นแต่สมัครใจ และต้องเป็นระดับเดียวกัน (ห้ามไปขึ้นข้ามสาย) กรณีนี้ให้นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งในสายงานนั้น ๆ ใหม่ นับแต่ขอย้ายไป

27. ตร. ที่อยู่โรงพัก หรือ ภ.จว. จะไปช่วยราชการที่อื่นไม่ได้ เว้นแต่มีตัวมาเปลี่ยน

28. ภายใน 10 ปี นับแต่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ ห้ามตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่ เว้นแต่จัดสรรกำลังให้โรงพัก และ ภ.จว. ตามกรอบอัตรากำลังแล้ว

29. ภายใน 1 ปี นับแต่ พ.ร.บ.นี้บังคับ ให้ยุบตำรวจรถไฟ ส่วนคดีที่อยู่ในอำนาจตำรวจรถไฟก่อนยุบ ให้โอนไปที่ สน. หรือ บก. ตามที่ ผบ.ตร. กำหนด และให้ถือว่าสอบสวนโดยชอบแล้ว

30. ภายใน 2 ปี นับแต่ พ.ร.บ. นี้บังคับ ให้ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ได้ข้อยุติอย่างไรแล้ว ให้ยุบตำรวจป่าไม้ โอนภารกิจไปให้หน่วยงานนั้น ๆ

31. ภายใน 5 ปี นับแต่ พ.ร.บ. นี้บังคับ ให้โอนงานจราจร เฉพาะที่เกี่ยวกับ การบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความสะดวก กวดขันวินัย ไปให้ท้องถิ่น (งานถวายความปลอดภัยที่ ตร. เคยใช้เป็นเหตุผลที่จราจรควรอยู่กับ ตร. ยังคงอยู่ไม่โอนไป)

32. เขาโอนไปแต่หน้างานนะครับ กำลังพลของรถไฟ ป่าไม้ จราจร เอาไปจัดลงหน่วยอื่น ๆ ของ ตร. (เน้นโรงพักให้เต็มก่อน)

33. ภายใน 1 ปี โอนงานทะเบียนตามธุรกิจ รปภ. เป็นของ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ คุ้มครองแรงงานจังหวัด

34. ภายใน 1 ปี โอนหน้าที่ของ ผบช.น. ตาม พ.ร.บ.สถานบริการฯ เป็นของ ปลัด ก.ท.ม.

35. ภายใน 2 ปี ให้ตรา พ.ร.ฎ.ตำรวจไม่มียศ ใครเป็นตำแหน่งที่ พ.ร.บ.นี้เขียนไว้ให้ไม่มียศ ถ้ามียศอยู่แล้วไม่กระทบ (แต่ยศไม่ขึ้นแล้ว) หากพ้น 2 ปี แล้ว ยังไม่ตรา พ.ร.ฎ.ให้เอากฎหมายเรื่องระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้ กับตำรวจไม่มียศ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ที่เหลือไม่ต่างจากฉบับปัจจุบันในส่วนสาระสำคัญครับ ใครอยากอ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเต็ม ไปดูได้ที่

https://bit.ly/2O4tVEI

ใครจะแสดงความคิดเห็น (เปิดรับถึงวันที่ 16 ส.ค. 61) ก่อนส่งไป ค.ร.ม.ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ส่งไปได้ที่

?สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตู้ ปณ. 1 ปณจ.ราชดำเนิน กทม. 10200
หรืออีเมลล์ webmaster@krisdika.go.th

ส่วนใครจะ Copy บทความนี้ แนะนำให้ใช้การแชร์ หรือ เอาไปทั้งหมดนะครับ อย่าไปตัดข้อความของผมออกล่ะ กลัวเนื้อหาจะผิดเพี้ยน และอีกอย่างผมใช้เวลานั่งอ่านพอสมควรกว่าจะจบทั้งฉบับครับ ^^

คิดเห็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนข้าราชการตำรวจ และพี่น้องประชาชนทุกท่าน